🌺 ดอกไม้หอม ดอกไม้ไทย 🌺
กระดังงา
กระดังงาไทย ชื่อสามัญ
Cananga, Ylang-Ylang,
Ilang-Ilang (อิลาง-อิลาง)
กระดังงาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์
Uvaria odorata Lam.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
ลักษณะของต้นกระดังงา
·
ต้นกระดังงาไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง
เปลือกต้นเป็นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป
ส่วนที่ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือตอนกิ่ง
ออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี
·
ดอกกระดังงาไทย ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ
ช่อดอกแยกแขนง ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3-6 ดอก
ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร
ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร
ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ 3
ชั้น กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม
ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา)
กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5
เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย
โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ
ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร
มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก
เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก
·
ผลกระดังงาไทย ออกเป็นผลกลุ่มมีประมาณ 4-12 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ
1-1.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1.3-2 เซนติเมตร
ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะรูปไข่แบน
สีน้ำตาล ประมาณ 2-12 เมล็ด
·
สรรพคุณของกระดังงา
·
เปลือกต้นกระดังงา มีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ
แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการท้องเสีย ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
·
เนื้อไม้กระดังงา มีรสขมเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ
แก้ปัสสาวะพิการ
·
รากกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด
·
ใบกระดังงา ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
แก้อาการคัน และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
·
ดอกกระดังงา มีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน
ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต
บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้อาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7” (สัตตะเกสร)
และ “พิกัดเกสรทั้ง 9” (เนาวเกสร) ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ และมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์
ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก
แก้จุกเสียดและแก้สะอึก
·
เกสรกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
ช่วยเจริญอาหาร และใช้แก้โรคตา
·
น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ฆ่าเชื้อโรค
ช่วยบำรุงประสาท สงบประสาท แก้อาการซึมเศร้า
กระวนกระวายใจ แก้หอบหืด ช่วยลดความดันโลหิต
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดังงา
·
กระดังงาไทยมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฆ่าเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ต้านเชื้อรา ยีสต์ ไล่แมลง เป็นเครื่องหอม แก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ
ความดันโลหิตสูง มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ใช้สงบประสาท ลดไข้
ประโยชน์ของกระดังงา
9.
คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกระดังงาไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง
เนื่องจาก “กระดัง” คือการทำให้เกิดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า
เสียงดังเหมือนกับนกการเวกในสมัยพุทธกาลที่มีเสียงดังไพเราะและก้องไกลทั่วสวรรค์
ดังนั้นบางคนจึงเรียกกระดังงาว่า การเวก
10.
คนไทยโบราณจะใช้ดอกกระดังงานำมาทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผม
11.
ดอกแก่จัดสด ๆ สามารถนำมารมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียน
เพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออกและส่งกลิ่นหอมออกมา
แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งในตอนเช้า
แล้วนำน้ำไปเป็นน้ำกระสายยา หรือนำไปคั้นกะทิ หรือทำเป็นน้ำเชื่อมปรุงขนมต่าง ๆ
12.
ดอกแห้งใช้ผสมกับดอกไม้หอมอื่น ๆ สำหรับทำบุหงา
13.
น้ำมันหอมใช้ปรุงเป็นน้ำหอมชั้นสูงที่มีราคาแพง ใช้ปรุงขนม น้ำอบ
และอาหาร
14.
น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอก (Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil) ถูกนำมาใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอาง
หรือทำเป็นเครื่องหอมต่าง ๆ
15.
เปลือกสามารถนำมาทำเป็นเชือกได้
ดอกปีบ
ปีบ ชื่อสามัญ Cork tree, Indian cork
ปีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis L.f. จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
ลักษณะของปีบ
·
ต้นปีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตรง
มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร
เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ รากเกิดเป็นหน่อ
เจริญเป็นต้นใหม่ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะ
หรือใช้ต้นอ่อนที่เกิดจากรากรอบ ๆ ของต้นแม่ นำมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ
แล้วนำมาปักชำในกระบะกรวยที่ผสมด้วยขี้เถ้าแกลบก็ได้ ปีบเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของพม่าและไทยที่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ
ภาคตะวันตก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
·
ใบปีบ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น มีความกว้างประมาณ 13-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ
16-26 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร
ที่ตัวใบจะประกอบไปด้วยแกนกลางยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร
มีใบย่อย 4-6 คู่ กว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ
4-5 เซนติเมตร ลักษณะใบมีรูปร่างคล้ายรูปหอกแกมรูปไข่
ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักเป็นซี่หยาบ ๆ
เนื้อใบเกลี้ยงบางคล้ายกับกระดาษ
·
ดอกปีบ ลักษณะดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง
มีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร
ดอกย่อยจะประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกมีกลิ่นหอม มีความกว้างประมาณ 0.5
เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร
เชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร แยกออกเป็น 5 แฉก 3 แฉกรูปขอบขนาน 2 แฉกล่างค่อนข้างแหลม
มีเกสรตัวผู้จำนวน 4 ก้าน สองคู่จะยาวไม่เท่ากัน และมีเกสรตัวเมียจำนวน
1 ก้าน อยู่เหนือวงกลีบ
โดยดอกปีบจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม
·
ผลปีบ ลักษณะเป็นผลแห้งแตก ผลแบนยาว ขอบขนาน
มีเนื้อและเมล็ดจำนวนมาก เป็นแผ่นบางมีปีก
สรรพคุณของปีบ
1.
ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)
2.
ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
3.
รากช่วยบำรุงปอด (ราก)
4.
ช่วยรักษาวัณโรค (ราก)
5.
ใช้เป็นยารักษาไซนัสอักเสบ (ดอก)
6.
ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก
ด้วยการใช้ดอกที่ตากแห้งแล้วนำมามวนเป็นบุหรี่สูบเพื่อรักษาอาการ (ดอก)
7.
ช่วยรักษาอาการหอบหืด หอบเหนื่อย
ทำให้ระบบการหายใจดียิ่งขึ้นด้วยการใช้ดอกปีบแห้งประมาณ 6-7 ดอก แล้วมวนเป็นบุหรี่สูบ
เพื่อรักษาอาการหอบหืดได้ (ราก, ดอก)
8.
ช่วยรักษาปอดพิการ (ราก)
9.
ใช้เป็นยาแก้ลม (ดอก)
10. ใบใช้มวนเป็นบุหรี่สูบแทนฝิ่น
เพื่อช่วยขยายหลอดลมและรักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน (ใบ)
เพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสกัดส่วนต่าง ๆ
ของต้นปีบ เพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ในการรักษา โดยสามารถตรวจพบสาร Scutellarein,
Hispidulin, Scutellarein-5-galactoside จากดอกปีบ และพบสาร Hispidulin
จากใบของต้นปีบ ส่วนในรากนั้นพบสาร Hentriacontane,
Lapachol, Hentria contanol-1, B-stosterol, Paulownin ในส่วนของผลพบ
Acetyl oleanolic acid และในส่วนของเปลือกต้นและแก่นไม้พบสาร
B-stosterol โดยนำมาสกัดออกจากดอกปีบแห้ง แล้วนำส่วนต่าง ๆ
เหล่านี้มาทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
พบว่าส่วนที่สกัดจากคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ในการขยายหลอดลม ในขณะที่ส่วนสกัด Butanol
และน้ำมีฤทธิ์ทำให้หลอดลมหดตัว และยังพบว่าส่วนสกัดแยกส่วนด้วย Butamol
จากสารสกัดด้วยน้ำนั้นมีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดลม ซึ่งจากการศึกษา
เชื่อว่าสาร Hispifulin นั้นมีบทบาทในการขยายหลอดลม
แต่อย่างไรก็ตามการที่จะอธิบายว่าผลที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากสารสกัดตัวใดนั้น
ยังให้คำตอบไม่ได้ คงต้องศึกษาสาระสำคัญแยกกันไปอีก
ประโยชน์ของปีบ
1.
ดอกนำมาตากแห้งแล้วผสมกับยาสูบมวนบุหรี่ ใช้สูบทำให้ชุ่มคอ ทำให้ปากหอม
และยังมีกลิ่นควันบุหรี่ที่หอมดีอีกด้วย
2.
ประโยชน์ของดอกปีบ ดอกช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำดี (cholagogue) และเพิ่มรสชาติ (ดอก)
3.
ดอกปีบนำมาตากแห้ง นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่มเป็นชาก็ได้
โดยดอกปีบชงนี้จะมีกลิ่นหอมละมุนอ่อน ๆ มีรสชาติหวานแบบนุ่มนวล ไม่ขม
แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
4.
สารสกัดจากใบที่สกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า
(ใบ)
5.
ประโยชน์ของปีบ เนื้อไม้ของต้นปีบมีสีขาวอ่อน
สามารถเลื่อยหรือไสกบเพื่อตกแต่งให้ขึ้นเงาได้ง่าย
จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายในบ้านได้
6.
เปลือกของต้นปีบ
เมื่อก่อนสามารถนำมาใช้แทนไม้ก๊อกสำหรับทุกจุกขวดได้
7.
ประโยชน์ของต้นปีบ ปีบเป็นไม้พุ่มมีใบและดอกสวย
แถมยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย จึงสามารถปลูกไว้ประดับสวน
ปลูกเพื่อให้ร่มเงาในลานจอดรถหรือริมถนนข้างทาง
และที่สำคัญต้นไม้ชนิดนี้ยังทนน้ำท่วมขังได้ดีอีกด้วย
8.
ดอกปีบเป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย โดยความหมายของต้นไม้ชนิดนี้ คือ
เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นแก่ชีวิต ซึ่งหมายถึง “พยาบาล” และดอกปีบยังหมายถึงยาอายุวัฒนะ
ซึ่งเปรียบเสมือนพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพแก่คนทั่วไป
ต้นปีบเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว เกิดขึ้นได้ในป่าทุกชนิด
สามารถช่วยสร้างเสริมธรรมชาติที่ชุบและดำรงชีวิตให้แก่มวลมนุษย์ตลอดกาล
เช่นเดียวกับพยาบาล ที่จะเป็นการบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นต่อสังคมตลอดไป
(ดอกปีบยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปราจีนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอีกด้วย)
9.
การปลูกต้นปีบเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน
เชื่อว่าการปลูกไว้ประจำบ้านจะทำให้เก็บเงินเก็บทองได้มากขึ้น
และยังทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย
โดยควรปลูกต้นปีบไว้ในทางทิศตะวันตกและผู้ปลูกควรปลูกในเสาร์เพื่อเอาเคล็ด
แต่ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ที่เกิดในวันจันทร์
(ส่วนผู้อยู่อาศัยหากเกิดวันจันทร์ด้วยแล้วจะยิ่งเป็นสิริมงคลยิ่งนัก)
เพราะปีบเป็นดอกไม้ประจำของนางโคราคะเทวี
ซึ่งเป็นนางประจำวันจันทร์ในธิดาของพระอินทร์นั่นเอง
ดอกนางแย้ม
นางแย้ม ภาษาอังกฤษ Glory bower, Rose clerodendrum, Burma
conehead, Lady nugent’s rose
นางแย้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum fragrans (Vent.) R.Br.,
Clerodendrum fragrans Willd., Clerodendrum philippinum Schauer) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา
(LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ลักษณะของนางแย้ม
·
ต้นนางแย้ม เป็นไม้พุ่มลำต้นเตี้ย ลำต้นค่อนข้างตรง
มีขนปกคลุมเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อน มีความสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการขุดต้นอ่อนที่เกิดจากรากที่อยู่ใกล้ผิวดิน
(เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด) หรือใช้วิธีการตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง สามารถพบได้มากตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ
หรือที่ร่มรำไรที่มีความชื้นสูงและมีดินร่วนซุย นักวิชาการเชื่อว่าต้นนางแย้มนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
ที่เกาะชวาและเกาะสุมาตรา ส่วนนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้นคือต้น “นางแย้มป่า” (Clerodendrum infortunatum L.)
·
ใบนางแย้ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน
ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ หรือรูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ใบกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร
ผิวใบมีขนละเอียดปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ผิวใบสากระคายมือ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง
ขอบใบหยัก รอบใบเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ เมื่อเด็ดใบแล้วนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะ
·
ดอกนางแย้ม ออกดอกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง
ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ หนึ่งช่อดอกจะกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกมะลิซ้อน คือมีดอกเป็นพวงเล็ก ๆ หลาย ๆ
ดอกเรียงรายซ้อนกันอยู่ แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว เมื่อบานแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีชมพู
สีม่วงแดงสลับขาว ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 5-6
แฉก กลีบเลี้ยงมีสีม่วงแดง ดอกย่อยจะบานไม่พร้อมกัน
ดอกด้านบนจะบานก่อนดอกด้านล่าง แต่ถ้าบานจะบานอยู่นานหลายวัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4
ก้าน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน
เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 4 ก้าน
ดอกนางแย้มมีกลิ่นหอมมากทั้งในเวลาวันและกลางคืน และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
สรรพคุณของนางแย้ม
1.
รากช่วยบำรุงประสาท (ราก)
2.
นางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
3.
ช่วยลดความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
(ราก, ใบ)
4.
ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
(ราก, ใบ)
5.
ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ราก)
6.
ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ดากโผล่
ด้วยการใช้รากแห้งจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำแล้วนั่งแช่ในน้ำที่ต้มชั่วครู่ (ราก)
7.
ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง
โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
8.
ช่วยขับระดูขาวของสตรี ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
(ราก, ใบ)
9.
ช่วยแก้ไตพิการ โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
10. ช่วยแก้ฝีภายใน
โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
11. ต้นนางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้พิษฝี
(ทั้งต้น)
12. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)
13. รากใช้ฝนกับน้ำปูนใสใช้ทารักษาเริมและงูสวัด
(ราก)
14. ช่วยแก้อาการเหน็บชา
ปวดขา ด้วยการใช้รากประมาณ 15-30 กรัม ใช้ตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3
วัน (ราก)
15. ช่วยแก้เหน็บชาที่มีอาการช้ำบวม
ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม
นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
16. ช่วยแก้อาการปวดข้อและปวดเอว
ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม
นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ทั้งต้น)
17. ใบใช้ประคบช่วยรักษาไขข้ออักเสบได้
(ใบ)
18. ช่วยแก้อาการกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง
(ราก, ทั้งต้น)
ดอกพะยอม
พะยอม ชื่อสามัญ Shorea, White meranti
พะยอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์
Shorea talura Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
ลักษณะของต้นพะยอม
·
ต้นพะยอม (ต้นพยอม) มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา
และฟิลิปปินส์ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20
เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร
เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา
ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก
แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ถ้าหากปลูกในที่โล่งแจ้งและไม่มีพรรณไม้ใหญ่ชนิดอื่นอยู่ใกล้
ๆ เป็นต้นไม้ที่สวยโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งแต่อย่างใด
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง
ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ
โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป
ทุกภาคของประเทศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร
และดอกพะยอมยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย
·
ใบพะยอม ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน
โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน
ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 6-8
เซนติเมตร
·
ดอกพะยอม (ดอกพยอม) ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม
ดอกมีกลีบ 3 กลีบ กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 4-6
เซนติเมตร โคนกลีบดอกติดกับก้านดอก มีลักษณะกลม
ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วยเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
·
ผลพะยอม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย
ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมี 5
ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก
ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
สรรพคุณของพะยอม
1.
พยอม สรรพคุณของดอกช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
2.
สรรพคุณสมุนไพรพยอม ดอกใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)
3.
ดอกใช้ทำเป็นยาหอมไว้แก้ลม (ดอก)
4.
สรรพคุณต้นพยอมช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน (เปลือกต้น)
5.
เปลือกต้นใช้กินแทนหมาก ช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ (เปลือกต้น)
6.
เปลือกต้นมีสีสาร Tannin มาก สามารถใช้เป็นยาฝาดสมานแผลในลำไส้ได้
(เปลือกต้น)
7.
สรรพคุณพยอมช่วยสมานบาดแผล ชำระบาดแผล
ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณบาดแผล
ประโยชน์ของพะยอม
1.
ดอกอ่อนสามารถนำมารับประทานสดได้
หรือจะนำมาลวกเป็นผักไว้จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด
หรือจะนำมารับประทานเป็นน้ำซุปร้อน ๆ โดยนำมาแกงส้มก็ได้เช่นกัน
โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกพะยอมในส่วนที่กินได้ต่อ 100 กรัม
ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 7.2 กรัม, โปรตีน
4.4 กรัม, ไขมัน 1.1 กรัม, เส้นใย 2.8 กรัม,
ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม, และธาตุแคลเซียม 46 มิลลิกรัม
2.
ไม้พะยอม มีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล
สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆไปได้ เช่น การทำเสาบ้าน ขื่อ รอด ตง พื้น ทำฝา
เรือขุด เครื่องบนเสากระโดงเรือ แจว พาย กรรเชียง คราด ครก สาก ลูกหีบ กระเดื่อง
ตัวถังรถ ซี่ล่อเกวียน กระเบื้องไม้ นำไปใช้ทำหมอนรถไฟ
และนำมาใช้แทนไม้ตะเคียนทองเพราะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เป็นต้น
3.
ประโยชน์ของพะยอม เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมากได้
4.
เปลือกต้นและเนื้อไม้นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่
ไว้ใช้รองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าวและน้ำตาลจากต้นตาลโตนด
5.
เปลือกต้นหรือไม้ชิ้นเล็ก ๆ นำมาใช้ใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสียได้
6.
ชันที่ได้จากต้นพะยอมสามารถใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือได้
7.
เปลือกต้นมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูง
จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
8.
พะยอมเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกได้ดีในที่แล้ง
ซึ่งอาจปลูกไว้เพื่อความสวยงามให้ร่มเงาตามบ้านเรือนก็ได้
และดอกยังมีความสวยงามมาก แต่จะออกดอกปีละครั้ง
และออกดอกพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก
9.
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน
จะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะคำว่าพะยอมมีความหมายว่า การยินยอม
ตกลง ผ่อนผัน หรือประนีประนอมนั่นเอง
และยังเชื่อว่าจะช่วยทำให้ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องเงินทองด้วย
เพราะจะทำให้ผู้คนต่างให้ความเห็นใจนั่นเอง
โดยการปลูกเพื่อเอาคุณนั้นให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและควรปลูกในวันเสาร์
ดอกแก้ว
แก้ว ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chanese box tree,
Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood[1],[2],[3],[4],[5]
แก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.)
Jack (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]
สมุนไพรแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง), แก้วลาย (สระบุรี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ),
แก้วขาว (ภาคกลาง), กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี),
จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของต้นแก้ว
·
ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย[7] ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
400 เมตร[8] โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10
เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ
เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล
เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน
·
ใบแก้ว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ
มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่
ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3
เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร
แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน
ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน
เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ
·
ดอกแก้ว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ
ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ
หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร
โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน
ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
·
ผลแก้ว ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่
ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ
1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม
ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด
เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น
เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-9
มิลลิเมตร
สรรพคุณของต้นแก้ว
1.
ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
2.
ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด
ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)
3.
ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก, ใบ)
4.
ช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ใบ)
5.
ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้
จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก, ก้าน, ใบสด)]บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม
นำมาต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ, ใบสด)
6.
รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)
7.
รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย
แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)
8.
ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)
9.
ช่วยแก้บิด (ใบ)
10. ใบช่วยขับลม
แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)
11. ช่วยในการย่อยอาหาร
(ดอก, ใบ)
12. ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ
ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู,
เจตพังคี, และเปลือกอบเชย
นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยารับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลืองก็ได้
โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)
13. ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด
(ใบ)
14. ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี
(ใบ) หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15
กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2
ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว
ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)
15. รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้
ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)
16. รากใช้เป็นยาแก้ฝีในมดลูก
(ราก)
17. รากสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล
(รากสด) ใช้เป็นยาแก้แผลคัน (ราก)
18. ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและที่เกิดจากแมลงกัดต่อย
(ราก, ก้าน,
ใบสด) แก้อาการคันที่ผิวหนัง (ราก)
19. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
ด้วยการใช้รากและใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย (ราก, ใบสด)แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
(ราก)
20. รากสดมีรสเผ็ดสุขุม
นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้แผลฟกช้ำได้ (รากสด)แก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก) แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก
(ใบ)
21. ช่วยแก้ฟกช้ำ
ด้วยการใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น,
ขิง และไพร นำมาตำให้ละเอียดและผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อน
นำผ้าสะอาดห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง (ใบสด)
22. รากใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
บรรเทาอาการปวดบวม แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก) บ้างว่าใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุราใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอว
(รากแห้ง)
23. ก้านและใบสดเมื่อนำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์
24 ชั่วโมง
สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้ (ก้านใบ, ใบสด)
24. ดอกและใบใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ
(ดอก, ใบ)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นแก้ว
·
ในใบมีน้ำมันหอมระเหย 0.25 โดยประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene,
Citronellol, Eugenol, Geraniol, I-Candinenem, Paniculatin, Phebalosin, Methyl
Anthranilate, Scopoletin, Scopolin
·
ในกิ่ง เปลือกก้าน และผลของต้นแก้วมีสาร Mexoticin I, Hibiscetin, Heptamethyleeher
·
สารสกัดจาก Petroleum ether ของต้นแก้ว เมื่อนำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กของหนูขาวที่ทำการผ่าออกจากร่าง
พบว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพทำให้การเกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้มีการหย่อนคลาย
·
จากการทดลองกับหัวใจที่ออกจากร่างของกบพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเต้นของหัวใจของกบด้วย
·
สารจากต้นแก้วที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์
มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacullus Inuza และเชื้อ Btaphylo Coccus ได้
ประโยชน์แก้ว
1.
ก้านใบสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฟันได้
2.
ผลสุกสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได
3.
ต้นแก้วเป็นไม้ประดับที่มีทรงพุ่มสวยงาม ตัดแต่งเป็นพุ่มได้ง่าย
เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีและไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนัก
เพียงแต่รดน้ำเพียงครั้งคราวเท่านั้น
จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ประธานตามสวนหย่อม ริมทะเล ฯลฯ
โดยจะปลูกเป็นต้นเดี่ยว ๆ หรือใช้ปลูกแบบเป็นกลุ่ม ๆ ก็ได้ หรือใช้ปลูกเป็นรั้วบังสายตา
ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาก็ได้ อีกทั้งยังออกดอกดก ดอกมีความสวยงามและมีกลิ่นหอม
(การปลูกจากกิ่งตอนจะเป็นไม้พุ่ม แต่การปลูกในที่ร่มใบจะเขียวเข้ม มีกิ่งยืดยาว
และให้ดอกน้อย)
4.
คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นแก้วไว้เป็นไม้ประจำบ้าน
จะทำให้คนในบ้านมีแต่ความดีและมีคุณค่า เนื่องจากคำว่า “แก้ว” นั้นมีความหมายว่า
สิ่งที่ดีและมีคุณค่า เป็นที่นับถือของคนทั่วไป
เพราะคนโบราณได้เปรียบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เหมือนดั่งดวงแก้ว นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าบ้านที่ปลูกต้นแก้วไว้เป็นไม้ประจำบ้าน
จะทำให้คนในบ้านเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน
เปรียบเสมือนแก้วที่มีความสดใสและมีความใสสะอาด
และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
ควรปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันตกและควรปลูกในวันพุธ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้ดอกเพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันพุธ
5.
ดอกแก้วยังถูกนำมาใช้บูชาพระในพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งอีกด้วย
6.
ในต่างประเทศ เช่น
ชาวเกาะชวามีความเชื่อว่าต้นแก้วสามารถช่วยขับไล่วิญญาณร้าย แม่มด หรือปีศาจ
และช่วยในการปัดเป่าโชคร้ายต่าง ๆ และยังนำความสุขสมหวังมาให้
จึงมีการปลูกเป็นไม้ดับกันอย่างแพร่หลาย
อีกทั้งต้นแก้วยังถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์
โดยมีตำนานเล่าว่าสุลต่านแห่งยอกยาการ์ต้า
มักจะหาที่พักสงบจิตใจและรวบรวมสมาธิใกล้ ๆ
กับต้นแก้วก่อนที่จะเสด็จเพื่อเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมือง
ต้นแก้วจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีสมาธิและสติปัญญาไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ในพิธีแต่งงาน
ดอกแก้วยังเปรียบเสมือนคำอวยพรถึงคู่บ่าวสาวที่ขอพรให้ใช้ชีวิตคู่กันอย่างสุขสมหวังและหอมหวานเสมือนกลิ่นของดอกแก้วนั่นเอง
อีกทั้งใบของต้นแก้วก็นำมาใช้ในพิธีศพด้วย โดยมักจะใช้โรยบนพื้นก่อนนำศพลงไปวาง
เพราะใบแก้วมีกลิ่นหอมที่สดชื่น จึงช่วยดับกลิ่นเหม็นคลุ้งของศพได้นั่นเอง
7.
เนื้อไม้ของต้นแก้วเมื่อนำมาแปรรูปใหม่ ๆ จะเป็นสีเหลืองอ่อน
พอนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมสีเทา เนื้อไม้มีเสี้ยนตรงหรือสน
มีความละเอียดอย่างสม่ำเสมอ และมักมีลายพื้นหรือลายกาบในบางต้น สามารถเลื่อย ผ่า
ไส ขัด หรือนำมาตบแต่งได้ดี อีกทั้งยังมีลายไม้ที่สวยงาม
โดยเนื้อไม้นั้นจะนิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายในบ้าน
ภาชนะต่าง ๆ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือ ด้ามปากกา ไม้บรรทัด ไม้เท้า ไม้ตะพด กรอบรูป
เครื่องดนตรี ซออู้ ซอด้วง เครื่องกลึง ฯลฯ
8.
มีข้อมูลระบุว่าสารสกัดจากต้นแก้วใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนักในประเทศมาเลเซีย
ซึ่งในโฆษณาระบุว่ามันเป็นสูตรยาสมุนไพรเก่าแก่
โดยมีสรรพคุณในการช่วยลดความอยากอาหารได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ดอกลำดวน
ลำดวน ชื่อสามัญ White cheesewood, Devil tree, Lamdman
ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
ลักษณะของลำดวน
·
ต้นลำดวน หรือ ต้นหอมนวล มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[7] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ
มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง
แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ
เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ
มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
ชอบความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด
พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลางและพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ
เนื่องจากต้นลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีษะเกษ
·
ใบลำดวน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน
ปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร
แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน
ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน
ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร
·
ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ
2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล
มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ
6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเปลือง และมีขน แยกเป็น 2
วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน
ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง
โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า
แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร
ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร
ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้น ๆ รังไข่
ไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีด้วยกัน 3 กลีบ
ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย
ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร
โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน
·
ผลลำดวน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม
มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่
หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว
และยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ มีคราบขาว
ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ใช้รับประทานได้
โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
สรรพคุณของลำดวน
1.
ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)
2.
ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)
3.
ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)
4.
ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)
5.
ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)
6.
ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)
7.
ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค
ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้
แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม
(ดอก)
หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง
นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน
และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง) (แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ
ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรลำดวนเป็นยา
ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ
หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง
และเป็นยาแก้ลม (เกสร)
ประโยชน์ของลำดวน
1.
ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้
2.
ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว
ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย
3.
ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว
จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป
4.
ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย
โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08
5.
นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย
ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง
เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น
โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ
6.
ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน
จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี
ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน
สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น
ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง
โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน
7.
บางข้อมูลระบุว่าเนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน
สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี
ดอกทองกวาว
ทองกวาว ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree,
Flame of the forest
ทองกวาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
ลักษณะของทองกวาว
·
ต้นทองกวาว มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ จากประเทศไทย ลาว
กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย
และในแถบทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ
12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ
ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ
·
ใบทองกวาว ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับ ใบย่อยที่ปลายรูปไข่ กลีบแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปไม่เบี้ยว มีความกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร
และขอบใบเรียบ
·
ดอกทองกวาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายกับดอกทองหลาง
ดอกมีสีแดงส้มหรือแสด มีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร
มีดอกย่อยเกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อดอกบานจะมีกลีบ 5 กลีบ
และจะออกดอกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
·
ผลทองกวาว ลักษณะของผลเป็นฝักแบน
ฝักมีสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่เต็มที่
ที่ฝักมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน ฝักโค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ส่วนด้านบนหนาแตกเป็น 2
ซีก ในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด
ฝักมีความยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3.5
เซนติเมตร
สรรพคุณของทองกวาว
1.
รากทองกวาวมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ (ราก)
2.
รากทองกวาวใช้ต้มรักษาโรคประสาท (ราก)
3.
ดอกทองกวาวใช้ต้มดื่มช่วยถอนพิษไข้ได้ (ดอก)
4.
ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอก)
5.
ช่วยสมานแผลปากเปื่อย (ดอก)
6.
แก่นสามารถใช้ทาแก้อาการปวดฟันได้ (แก่น)
7.
ดอกใช้หยอดตาแก้อาการตาแดง เจ็บตา ปวดตา ระคายเคืองตา ตามัว ตาแฉะ
ตาฟาง (ดอก)
8.
ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ยาง)
9.
ทองกวาวมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องขึ้น
(อาการท้องอืดเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (ใบ)
10. ฝัก ใบ หรือเมล็ด
นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาขับพยาธิหรือพยาธิตัวกลม (ฝัก, ใบ, เมล็ด)
11. ใช้บำบัดพยาธิภายใน
(เมล็ด)
12. ดอกใช้ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ
(ดอก)
13. สรรพคุณทองกวาว
ใบช่วยรักษาริดสีดวง (ใบ)
14. ดอกหรือใบใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดได้
(ดอก, ใบ)
15. เมล็ดนำมาบดผสมกับมะนาว
นำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่นแดง อักเสบ คัน และแสบร้อน (เมล็ด)
16. ใบใช้ตำพอกฝีและสิว
แก้อาการปวด และช่วยถอนพิษได้ (ใบ)
17. สรรพคุณของทองกวาว
ดอกช่วยแก้พิษฝี (ดอก)
18. รากทองกวาวนำมาใช้ประคบบริเวณที่เป็นตะคริวได้
(ราก)
19. ช่วยลดกำหนัด (ดอก)
20. สารสกัดจากเปลือกทองกวาวสามารถช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้นได้
แต่จะทำให้จำนวนอสุจิลดลง (เปลือก)
ประโยชน์ของทองกวาว
1.
ดอกใช้ย้อมสีผ้า โดยจะให้สีแดง
2.
ลำต้นเมื่อนำมาสับเป็นแผลจะมียางไหลออกมา สามารถนำมาใช้แทน Kimo ได้ หรือที่เรียกว่า Bengal
kino
3.
เส้นใยจากเปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกหลวม ๆ และกระดาษได้
4.
ประโยชน์ทองกวาว ใบสดนำมาใช้ห่อของ
5.
ใบทองกวาวใช้ตากมะม่วงกวน
6.
ใบใช้เป็นอาหารสำหรับช้างและวัวควายได้
7.
ในอินเดียใช้ใบนำมาปั้นเป็นถ้วยไว้ใส่อาหารและขนมแทนการใช้พลาสติก
8.
เนื้อไม้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรได้
9.
เนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก
จึงสามารถใช้ทำกระดานกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุดหรือเรือโปงใช้ชั่วคราว หรือใช้กั้นบ่อน้ำ
ร่องน้ำ และกังหันน้ำได้
10. ทองกวาวจัดเป็นไม้มงคลนาม
คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก
คือสามารถมีทองได้ตามชาติหรือมีทองมากมายนั่นเอง
นอกจากนี้ดอกทองกวาวยังมีความสวยงามเรืองรองเหมือนทองธรรมชาติอีกด้วย
โดยตำแหน่งที่ปลูกก็คือทิศใต้ และถ้าปลูกในวันเสาร์ก็จะยิ่งเป็นมงคลขึ้นไปอีก
หรือถ้าจะให้เป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
สามารถติตต่อเราได้ที่
facebook ⇒ Aa' La tae
line ID⇒kra_tae13503
อ้างอิง
www.google.com
https://medthai.com